หลักสูตรการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม เป็นการจัดการศึกษาที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การให้ความสำคัญกับบริบทและวัฒนธรรมท้องถิ่นของผู้เรียนทุกคน สามารถบูรณาการได้กับทุกสาระวิชา เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้านอัตลักษณ์ ความเชื่อ วิถีวัฒนธรรมจนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ในขณะเดียวกันให้มีความพร้อมในการเรียนรู้ เคารพ ยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม สามารถสื่อสารอธิบายตัวตนได้อย่างมั่นใจและเหมาะสม โดยยึดหลักการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและการจัดการเรียนรู้แบบปฏิบัติการ (Active Learning) รวมถึงความเท่าเทียมทางเพศสภาพ (gender) ให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ ในเชิงบูรณาการและได้รับการพัฒนาทั้งด้านความรู้ ด้านคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข
.
บอร์ดเกมสำหรับการเรียนรู้ ICE “ขั้น I ตัวตนและความเกี่ยวพัน” ซึ่งเป็นขั้นแรกของการเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรม หรือ ICE เพื่อให้ผู้เรียนทบทวนและรู้จักตนเอง และรู้จักชาติพันธุ์อื่นในจังหวัดตาก
บอร์ดเกมสำหรับการเรียนรู้ ICE “ขั้น I-YOU ความเหมือนและความต่าง” เพื่อเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์อื่นในจังหวัดตาก
บอร์ดเกมสำหรับการเรียนรู้ ICE “ขั้น YOU สิทธิมนุษยชนและความรับผิดชอบ” เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้สิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็ก และตระหนักถึงสิทธิของตนเองและเคารพสิทธิของผู้อื่น
บอร์ดเกมสำหรับการเรียนรู้ ICE “ขั้น YOU-WE การเลือกปฏิบัติและความเท่าเทียม” ให้นักเรียนได้เรียนรู้การอคติ การเหมารวม และการตีตรา ที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ เพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงผลกระทบของการเลือกปฏิบัติ
บอร์ดเกมสำหรับการเรียนรู้ ICE “ขั้น WE สันติภาพและความขัดแย้ง” ให้นักเรียนได้ทบทวนศักยภาพความถนัดของตนเอง ของเพื่อนๆ ฝึกการทำงานและแก้ไขปัญหาร่วมกันตามศักยภาพของกลุ่มอย่างสันติ